ECO Milk ผลิตภัณฑ์นมที่มาจากวัวที่กินสาหร่ายเป็นอาหาร ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนเป็นจำนวนมาก จากแบรนด์ ASHGROVE ในรัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย
โดยก๊าซมีเทนถือว่าเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่มีอัตราการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเป็นอันดับที่ 2 รองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยส่วนใหญ่มาจากมูลของน้องวัว หรือฟาร์มปศุสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมักจะมาจากสัตว์เคี้ยวเอื้องเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ฟาร์มวัว แกะ ควาย ซึ่งนอกจากจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาผ่านการขับถ่ายแล้ว ยังรวมไปถึงทางลมหายใจและการเรออีกด้วย
ก๊าซมีเทน กักเก็บความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอน
หลายคนคงเข้าใจว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นส่วนที่ทำให้โลกร้อนมากที่สุด แต่จริง ๆ แล้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกผลิตขึ้นมาได้ง่าย และมีอัตราส่วนที่เยอะ จึงเป็นส่วนที่ทำให้โลกร้อนได้ง่าย ขณะที่ก๊าซมีเทน แม้ว่าอัตราส่วนที่ถูกผลิตออกมาจะไม่เยอะเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่คุณสมบัติการกักเก็บความร้อนกลับเยอะกว่า
“ก๊าซมีเทน มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนได้สูงกว่า CO2 ถึง 25 เท่า ทำให้ก๊าซมีเทนมีส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน”
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติรายงานว่า ก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ มากถึง 30% โดยส่วนหนึ่งมาจากการการเรอและการผายลมของสัตว์ใหญ่ หรือน้องวัวนั่นเอง
อาหารของน้องวัว คือสาหร่าย
เนื่องจากอาหารหลักของน้องวัวคือหญ้า เมื่อย่อยอาหารจึงปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณสูง ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โรงงานนมในแทสมาเนียจึงได้ทำการทดลองให้อาหารวัว 500 ตัว (คิดเป็น 20% ของวัวในฟาร์มทั้งหมด) ด้วยอาหารสัตว์ที่มีสารสกัดจากสาหร่ายทะเล
โดยเจ้าของฟาร์มเผยว่า วิธีนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงได้ 25% เมื่อเทียบกับการเลี้ยงแบบปกติ เนื่องจากสารปรุงแต่งที่พัฒนาขึ้นมานี้ช่วยยับยั้งการปล่อยมีเทนระหว่างกระบวนการย่อยอาหารในกระเพาะของวัว
โดยน้องวัวทั้ง 500 ตัวจะผลิตนมได้ประมาณ 10,000 ลิตรต่อวัน โดยส่วนหนึ่งได้นำไปบรรจุลงขวด และแปะป้ายว่า “Eco Milk” ส่งจำหน่ายไปทั่วห้างร้านในแทสมาเนีย
ซึ่งการจำหน่ายดังกล่าว เป็นเพียงการทดลองเท่านั้น เนื่องจากทางผู้ผลิตยังไม่มั่นใจ ว่าผู้บริโภคจะยอมจ่ายนมในราคาที่สูงขึ้น เพื่อแลกกับการปล่อยก๊าซมีเทนที่น้อยลงกว่าเดิม
โดยนมที่จำหน่ายจะมีขนาด 2 ลิตร และขายในราคา 5.50 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือ 132 บาทไทย) ซึ่งมีราคาสูงกว่านมทั่วไป ซึ่งหากว่ายอดขายไม่ดี หรือผู้คนไม่นิยม คาดว่าผู้ผลิตคงล้มเลิกแผนการจำหน่ายในวงกว้าง
ส่วนตัวพี่หมีคิดว่าการที่เราจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับอุณหภูมิโลกที่เย็นลงก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หากในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ต้นทุนในการผลิตต่าง ๆ ก็อาจจะถูกลงตามมา เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย แถมยังช่วยให้โลกของเราดีขึ้นอีกด้วย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่
Facebook: ECOLIFE