Back

โอลิมปิก 2024 เป็นมหกรรมกีฬาแบบรักษ์โลก

โอลิมปิก 2024 เป็นมหกรรมกีฬาระดับโลกที่มีการแข่งขันนับร้อยรายการ แต่ในปีนี้ ปารีส จะทำให้การแข่งขันระดับโลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้น การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ปารีส ในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อน 2024 จึงได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นโอลิมปิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด

โอลิมปิก 2024

ความท้าทายของ ปารีส 2024 คือการพยายามจำกัดการปล่อยคาร์บอนที่มาจากสถานที่จัดการแข่งขัน และจำกัดปริมาณพื้นที่สูญเปล่าหลังจากพิธีปิด ซึ่งในอดีตที่ผ่าน โอลิมปิกที่ริโอเดจาเนโรปี 2016 และลอนดอนปี 2012 ปล่อยคาร์บอนกว่า 3.5 ล้านตัน ปารีสตั้งเป้าลดให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งหรือก็คือ 1.75 ล้านตัน น้อยกว่าโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่จัดในช่วงล็อกดาวน์และปล่อยก๊าซ 1.9 ล้านตัน

ปารีสวางแผนรอบด้านตั้งแต่การก่อสร้าง การเดินทาง ไปจนถึงอาหารการกิน เพื่อให้เป็นโอลิมปิกที่รักษ์โลกที่สุด

โอลิมปิก 2024 ลดการสร้างใหม่ แต่ปรับปรุงของเก่าให้ดีกว่าเดิม

การเลือกใช้สถานที่จัดการแข่งขัน ทางปารีสได้เลือกใช้สถานที่ที่มีอยู่แล้ว นับเป็นสัดส่วนที่มากถึง 95% ของการแข่งขันจะใช้สนามกีฬาที่มีอยู่เดิมหรือแลนด์มาร์กที่ปรับปรุงใหม่ เช่น Grand Palais สำหรับฟันดาบและเทควันโด พระราชวังแวร์ซายสำหรับขี่ม้าและปัญจกีฬา

Grand Palais

ซึ่งสถานที่ที่สร้างขึ้นใหม่มีเพียง 5% เท่านั้น คือ Aquatics Centre, Media Village และ Athlete’s Village ที่ได้เลือกใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเฟอร์นิเจอร์รีไซเคิล โครงสร้างไม้ช่วยประหยัดพลังงาน และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา

และเมื่อจบการแข่งขัน Athlete’s Village จะถูกทำให้หมู่บ้านกลายเป็นที่พักอาศัยสำหรับคนกว่า 6,000 คน มีพื้นที่สำหรับร้านอาหารและร้านค้าในอนาคต ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับย่าน และเพิ่มอัตราการจ้างงานขึ้น 20%

โอลิมปิก 2024 อาหารรักษ์โลก ลด Single Use Plastic

อาหารที่เสิร์ฟในโอลิมปิกครั้งนี้ มากกว่า 60% ที่เป็นอาหารแบบ Plant-based ซึ่งมี Carbon Footprint น้อยลงกว่าเมื่อเทียบกับมื้ออาหารฝรั่งเศสปกติ และวัตถุดิบที่เลือกใช้ในการประกอบอาหารกว่า 80% เป็นวัตถุดิบภายในฝรั่งเศส เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง

นอกจากในเรื่องของอาหารแล้ว ทางปารีสยังได้มีการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปถึง 50% โดยได้เลือกใช้ภาชนะที่สามารถนำไปรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำได้แทน

ลดการเดินทาง ประหยัดพลังงาน

สนามแข่งขันทั้งหมดในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ สามารถเดินทางได้ด้วยขนส่งสาธารณะ โดย 80% อยู่ในรัศมี 10 กม. จากหมู่บ้านนักกีฬา ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที ช่วยลดมลพิษจากการเดินทาง ทั้งยังส่งเสริมการใช้จักรยาน โดยเพิ่มจักรยานให้เช่า 3,000 คัน และเพิ่มเลนจักรยานรวมระยะทาง 400 กม.

พลังงานหมุนเวียนต้อง 100%

นอกจากวัสดุต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เรื่องของพลังงานหมุนเวียน ทางปารีสก็ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 100% เช่นเดียวกัน 

โดยทางปารีสได้ให้การรับรองว่า ไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ระหว่างการแข่งขันมาจากพลังงานหมุนเวียน จากแหล่งผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่งทั่วฝรั่งเศส ขณะที่ Athlete’s Village มีการติดตั้งระบบความร้อน-ความเย็นที่จ่ายพลังงานจากความร้อนใต้พิภพ ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการใช้เครื่องปรับอากาศได้เป็นอย่างดี และศูนย์กีฬาทางน้ำ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาขนาดใหญ่ ที่ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมด

วัสดุที่ดีต่อนักแข่งและดีต่อโลก

โอลิมปิก 2024

ในการจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2024 นี้ ทางปารีสยังได้นำขยะต่าง ๆ มารีไซเคิลเป็นของใช้ภายในงานค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็น

  • เก้าอี้ผู้ชม ที่ทำจากขยะรีไซเคิล ที่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดขยะในปารีส และลดการฝั่งกลบของขยะเหล่านั้นได้เป็นจำนวนมาก 
  • เหรียญโอลิมปิก ที่ทำจากเศษเหล็กเหลือใช้ของหอไอเฟล ซึ่งในการก่อสร้างหรือปรับปรุงหอไอเฟลมักจะมีเศษเหล็กที่เหลือใช้อยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นทางปารีสจึงได้นำมาสร้างใหม่ เป็นเหรียญโอลิมปิกที่มากด้วยคุณค่าและความทรงจำ ราวกับนักแข่งที่ได้รับเหรียญเหล่านั้น ได้ครอบครองหอไอเฟลเลยก็ว่าได้
  • หรือแม้กระทั่งคบเพลิงโอลิมปิก 2024 ที่ทำจากเหล็กรีไซเคิล 100% และสามารถนำมาใช้ซ้ำและชาร์จใหม่ได้ และยังมีการปล่อยคาร์บอนที่ต่ำ ใช้เชื้อเพลิงไบโอโพรเพน แทนการเผาไหม้

แม้แนวคิดและความตั้งใจของปารีสที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโลก แต่ขณะเดียวกันการรักษ์โลกที่เข้มงวดเช่นนี้ก็ส่งผลกระทบต่อนักกีฬาหลาย ๆ คน อาทิเหตุการณ์ที่รถบัสรับ-ส่งไม่เปิดแอร์ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ จนส่งผลให้นักกีฬาอ่อนเพลียก่อนจะได้เริ่มแข่งขันเสียอีก

การเข้มงวดที่มากเกินไปก็อาจจะส่งผลเสียได้ แต่ถึงอย่างไร โอลิมปิก 2024 ในครั้งนี้ทางปารีสก็ได้ตั้งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นแล้ว ประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันในอนาคต คงจะต้องเสนอแนวทางความรักษ์โลกที่ดีต่อนักแข่งและดีต่อโลกมากขึ้นกว่านี้ซะแล้วสิ

ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่

Facebook: ECOLIFE

Website: คิดคิด / ECOLIFE

KIDKID
KIDKID

This website stores cookies on your computer. Cookie Policy