Back

Upcycling ผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนไทย เปลี่ยนขยะ ให้มีมูลค่า

Upcycling การสร้างมูลค่าให้กับขยะ แทนที่จะกำจัดและฝังกลบ เทคโนโลยีนี้ได้เข้ามาช่วย ให้เราสามารถแปรเปลี่ยนขยะที่สิ้นมูลค่า ให้กลับมามีราคาอีกครั้ง

ในอดีต การจัดการขยะให้เกิดประโยชน์ เราคงมองแค่การ Recycle ขยะ หลอมรวม และปรับเปลี่ยนให้ขยะเหล่านั้นเกิดใหม่เป็นอีกสิ่งหนึ่ง แต่การ Recycle นั้น แม้ว่าจะเป็นการช่วยไม่ให้ขยะมีมากจนเกินไป 

แต่ผลที่ตามมาคือการ Recycle แต่ละครั้ง ก็ต้องใช้พลังงาน และกระบวนการที่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นแล้ว มนุษย์เราจึงต้องหาวิธี ในการแปรเปลี่ยนขยะเหล่านั้นให้คุ้มค่า มีราคา ก่อนไปสู่กระบวนการ Recycle และกำจัดในท้ายที่สุด

การ Upcycle จึงเป็นทางออกของการแกไ้ขปัญหานี้ เรานำขยะเหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนแปลงลักษณะ และสุดท้ายสามารถขายต่อได้ในราคาที่สูงกว่า เพื่อเป็นส่วนในการลดการใช้พลังงานในการ Recycle และใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น

ดังนั้นพี่หมีเลยอยากจะพาทุกคน มารู้จักแบรนด์ Upcycle ธุรกิจที่กำลังมาแรง และคุ้มค่าที่จะซื้อ หรือลงทุนในปัจจุบัน 

แบรนด์ Upcycling ฝีมือคนไทย

1. From Trash to Treasure Bangkok (ftttbkk)

แบรนด์ที่นำเสื้อผ้าเก่ากลับมาตัดแปะ ดัดแปลงอย่างมีสไตล์ จนกลายเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ ชุบชีวิตเสื้อยืดวินเทจ ให้กลายเป็นเสื้อตัวใหม่ หรือเดรสสวย ๆ นอกจากนี้ยังมีกระเป๋าเสื้อยืดหลากสี ซึ่งแต่ละดีไซน์มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ตัดเย็บ พร้อมใช้เชือกและซิปอย่างดี แต่ละใบอวดสีสันละลานตา และดูใหม่มากจนลืมไปเลยว่า ทำมาจากเสื้อยืดเก่า

2. FEEMUE

จุดเด่นของสินค้าแบรนด์ FEEMUE คือการนำวัสดุที่พบเห็นอยู่ในชุมชนคลองเตย ถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะ ผ่านมุมมองใหม่ ๆ อย่างกระสอบข้าวที่กลายร่างมาเป็นกระเป๋าดีไซน์เรียบ ๆ ใช้ได้นาน นอกจากนี้สินค้าทุกชิ้นยังเกิดขึ้นจากฝีมือและฝีจักรของบรรดาแม่บ้านในชุมชน ที่ทำให้ FEEMUE ได้รับรางวัล Good Design Award 2017 จากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

3. 103 PAPER 

แบรนด์ที่นำกระดาษสำนักงานเหลือใช้มาฉีก และประกอบขึ้นเป็นแจกันปั้นขนาดเล็ก ในคอลเล็กชั่น Turn to No.22 โดยเริ่มจากการขึ้นรูปด้วยมือทุกชิ้น เพราะฉะนั้นสินค้าของแบรนด์นี้จึงมีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์ที่ไม่ซ้ำกันเลย แจกันใบจิ๋วเหมาะกับการนำไปปักดอกไม้เพิ่มชีวิตชีวาบนโต๊ะทำงาน โต๊ะรับแขก หรือโต๊ะกินข้าว

4. Pipatchara

แบรนด์ไทยที่ดังไกลไปต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากแนวคิดที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการเน้นการทำงานร่วมกับวิถีชุมมชนเป็นหลัก ภายใต้คอนเซ็ปต์ Sustainability โดยการนำขยะพลาสติกรีไซเคิลมาออกแบบเป็นแฟชันเสื้อผ้า 

5. PlaPlus

บริษัทรับจัดการขยะพลาสติกชีวภาพรายแรกของไทย ได้รวบรวมขยะพลาสติกประเภทที่ 7 PLA นำมาบด หลอม และ ฉีดเป็นเส้น ขนาด 1.75 mm ควบคุมขนาดให้สม่ำเสมอ เพื่อใช้กับเครื่อง 3D printer และ 3D pen ใช้สำหรับขึ้นรูปทรงเป็นสิ่งของต่าง ๆ 

ถึงแม้ว่าการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะจะเป็นสิ่งที่ดี และต่อยอดได้หลายอย่าง แต่ถึงแบบนั้น การลดการใช้พลาสติก ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำมากกว่าการต้องนำขยะพลาสติกเหล่านั้นมาเพิ่มมูลค่า

เพราะไม่ใช่พลาสติกทุกชนิดที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แค่เกิดการปนเปื้น ขยะพลาสติกนั้นมูลค่าก็จะน้อยลง รวมไปถึงจำนวนรอบของการนำไป Upcycle และ Recycle เพราะทุกครั้งที่ผ่านกระบวนการ ประสิทธิภาพการใช้งานก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ สุดท้ายหากนำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ ก็ต้องถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน หรือไปสู่วิธีฝังกลบ

ดังนั้นแล้ว การร่วมกันลดการใช้พลาสติก และแยกขยะให้ถูกวิธี จึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด แม้จะช่วยโลกไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเราได้เริ่มทำอะไรสักอย่าง เพื่อโลกที่ดีขึ้น

✨โหลด ECOLIFEapp เพื่อเข้าร่วมเป็นชาว ECO ได้ที่ :

👉🏻iOS download: https://apple.co/3tNdnZF

👉🏻Android download: https://bit.ly/3LqkCMO

ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่

Facebook: ECOLIFE

Website: คิดคิด / ECOLIFE

KIDKID
KIDKID

This website stores cookies on your computer. Cookie Policy