ญี่ปุ่น ขึ้นชื่อเรื่องของบ้านเมืองที่สะอาด แทบจะปราศจากขยะเลยก็ว่าได้ อย่างภาพท่อระบายน้ำที่มีปลาคาร์ปว่ายเล่นไปมา ซึ่งกว่าที่เราจะได้เห็นภาพเหล่านั้น ทั้งรัฐบาล เอกชน ประชาชนต่างร่วมมือ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศอย่างเคร่งครัด
อย่างที่เรามักจะเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคร่งในกฎระเบียบ และวินัยที่สุดโต่งในหลาย ๆ เรื่อง เรียกได้ว่าถูกปลูกฝังจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่ถึงจะเคร่งแค่ไหน สิ่งที่ได้กลับมา กลับคุ้มค่าและช่วยเปลี่ยนแปลงให้โลกดีขึ้น ส่วนหนึ่งคือเรื่องของขยะ และการบำบัดน้ำเสีย ที่เป็นส่วนที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่น สะอาดและปราศจากขยะดังที่เห็นในทุกวันนี้
ญี่ปุ่น กับการจัดการขยะ
ปลูกฝังเรื่องขยะตั้งแต่เด็ก
เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะถูกปลูกฝังเรื่องการแยกขยะ ทั้งในบ้านและในโรงเรียน ด้วยแนวคิดที่ ว่าขยะคือภาระของเราเอง ไม่ใช่คนอื่น ดังนั้นทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการลดการใช้ขยะ หากจำเป็นต้องมีขยะน้อยที่สุด
“ทุกครั้งที่ออกบ้าน หากไม่มีถังขยะ ต้องนำขยะกลับมาทิ้งที่บ้านทุกครั้ง”
ทุกบ้านต้องแยกขยะ
การแยกขยะ เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ นอกจากจะแยกขยะให้ถูกประเภทแล้ว เขายังมีการแยกด้วยว่าขยะประเภทไหนเผาได้ อันไหนเผาไม่ได้ ขยะเผาได้ คือ ขยะจากในครัว (ขยะเศษอาหาร) และขยะเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้าน ส่วนขยะเผาไม่ได้ ก็คือ พวกขวดแก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติก สารเคมี ยา กระป๋องสเปรย์ เครื่องหนัง แผ่นซีดี ฯลฯ ส่วนใหญ่เขาจะแยกออกเป็นแต่ละเภทเพื่อนำมารีไซเคิลอีกที
ภาครัฐมีกำหนดวันเก็บขยะแต่ละประเภท
เมื่อแต่ละที่เกิดการแยกขยะโดยแบ่งเป็นแต่ละประเภทแล้ว ทางรัฐบาลเขาก็จะมีส่งหนังสือแจ้งในทุก ๆ ปี ว่าวันไหนเขาจะมาเก็บขยะประเภทใด ซึ่งทำให้พนักงาน หรือบริษัทสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้แบบง่าย ๆ โดยที่พนักงานไม่ต้องมาเป็นคนแยกอีกรอบ
โดยตารางที่ทางรัฐส่งให้ก็จะระบุวันและเวลาเข้ามารับขยะอย่างชัดเจน เช่นทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนเป็นวันทิ้งขยะรีไซเคิล ประเภทหนังสือพิมพ์ กระดาษ / วันพุธที่สามของเดือนเป็นวันทิ้งขยะประเภทพลาสติก เป็นต้น ซึ่งขยะแต่ละประเภทหากเปื้อนก็ต้องล้างทำความสะอาดและตากให้แห้งก่อนนำไปทิ้ง
ร้านสะดวกซื้อต้องรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง
ปกติแล้วขยะในร้านสะดวกซื้อจะมีเยอะ และบางแห่งอาจจะไม่ได้มีถังขยะแยกเป็นแต่ละประเภท ซึ่งตรงนี้พนักงานต้องเป็นคนคัดแยกและรับผิดชอบนำขยะเหล่านั้นไปทิ้ง หรือกำจัดให้ถูกวิธี เพราะถือว่าร้านสะดวกซื้อหรือบริษัทเป็นผู้สร้างขยะ จะต้องรับผิดชอบขยะของตัวเอง
แหล่งน้ำสะอาดเพราะบำบัดก่อนทิ้ง
นอกจากการแยกขยะที่ถือว่าเป็นวินัยและส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นแล้ว แหล่งน้ำที่สะอาดก็มาจากวินัย และความรับผิดชอบของคนในประเทศเช่นเดียวกัน
ซึ่งก่อนที่ปล่อยน้ำกลับสู่แหล่งธรรมชาติ ต้องมีการบำบัดก่อน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้แต่ละบ้าน ทำการบำบัดก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ ถ้าบ้านไหนที่มีท่อน้ำทิ้งส่วนกลางผ่านบ้านก็ไม่จำเป็นต้องบำบัดน้ำเอง สามารถทิ้งน้ำที่ใช้ภายในครัวเรือนลงในท่อน้ำทิ้งได้เลยและน้ำส่วนนี้ก็จะถูกส่งไปบำบัดที่โรงบำบัดน้ำส่วนกลางก่อนจะปล่อยลงสู่แม่น้ำ โดยบ้านในญี่ปุ่นมีประมาณ 80% ใช้วิธีการนี้
ส่วนอีก 20% จะต้องมีถังบำบัดน้ำเสียส่วนตัว โดยส่วนมากจะเป็นบ้านเรือนที่อยู่ห่างไกล และที่ตั้งห่างไกลท่อทิ้งน้ำ จึงจำเป็นต้องติดตั้ง ถังบำบัดน้ำเสียแบบรวม และจะต้องมีการตรวจสอบ บำรุงรักษา ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
ทั้งเรื่องของการแยก รับผิดชอบขยะ และการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยกลับสู่แหล่งธรรมชาติ ถือว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่น ภาคเอกชน และประชาชน ต่างก็ให้ความสำคัญในการรับผิดชอบในส่วนมลพิษที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แม้จะเป็นกฎหมาย ระเบียบ และวินัย แต่สิ่งเหล่านี้ ก็นำมาซึ่งความสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หากประเทศไทยมีการนำกฎหมายเข้ามาปรับใช้ ทุกคนคิดว่าจะดีกับประเทศ และโลกของเรามากกว่าที่เป็นอย่างไหม?
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก: ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น / กรุงเทพธุรกิจ, One Ton
✨โหลด ECOLIFEapp เพื่อเข้าร่วมเป็นชาว ECO ได้ที่ :
👉🏻iOS download: https://apple.co/3tNdnZF
👉🏻Android download: https://bit.ly/3LqkCMO
ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่
Facebook: ECOLIFE