Back

ไมโครพลาสติก ในท้องทะเลสะสมถึง 3 เท่าในรอบ 20 ปี

ไมโครพลาสติก พลาสติกขนาดเล็กที่เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งไมโครพลาสติกมี 2 แบบ ได้แก่ ไมโครพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกขนาดเล็ก และไมโครพลาสติกที่เกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ 

ไมโครพลาสติก ใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 400 ปี 

ไมโครพลาสติก

งานวิจัยจากวารสาร Environmental Science and Technology พบว่า ในทะเลที่ระดับความลึกกว่า 100 เมตร มีไมโครพลาสติกที่สะสมอยู่ที่ก้นทะเลตั้งแต่ปี 1965-2016 โดยตั้งแต่ปี 2000 พบว่ามีปริมาณไมโครพลาสติกสะสมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหาใหญ่และยังคงแก้ไขไม่ได้ 

ไมโครพลาสติกเหล่านี้จะกระจายตัวที่ตะกอนชายหาด บนผิวน้ำทะเล หรือในแนวน้ำ เมื่อสะสมแล้วจะมีการย่อยสลายน้อยมาก และไมโครพลาสติกจะไม่สลายตัวอีกต่อไปเมื่ออยู่ที่ก้นทะเลแล้ว จากการวิจัยยังประเมินปริมาณไมโครพลาสติกบนพื้นทะเล ว่ามีมากถึง 14 ล้านตัน โดยมลพิษจากพลาสติกนั้นส่งผลกระทบต่อน้ำแข็งในทะเลรอบแอนตาร์กติกา จนถึงบริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาที่ลึกที่สุดในโลก 

ไมโครพลาสติกกับประเทศไทย

ไมโครพลาสติกเกิดจากปัญหาขยะพลาสติกรอบตัวที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ขวดน้ำ พลาสติก ถุงพลาสติก หรือหลอดพลาสติก ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกเป็นจำนวนสูงถึง 4.8 ล้านตันต่อปี ติดอันดับที่ 12 ในการสร้างขยะพลาสติกของโลก และยอดการใช้พลาสติกเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 3,440 ตันต่อวัน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงถึง 62% 

ไมโครพลาสติกกับผลกระทบ

  • ไมโครพลาสติกจะกลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไป ก็จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้ไมโครพลาสติกตกค้างสะสมในตัวของสัตว์ทะเล ก่อให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร 
  • ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการรับประทานอาหารทะเล จากผลวิจัยและการเก็บตัวอย่างเลือดแบบสุ่ม พบว่า 80% จากกลุ่มตัวอย่าง ตรวจจับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในเลือดได้ ซึ่งไมโครพลาสติกสามารถเดินทางไปได้ในทุกๆ ส่วนของร่างกายผ่านทางหลอดเลือด และอาจไปสะสมอยู่ที่อวัยวะภายในส่วนใดส่วนหนึ่งได้

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในกระเพาะของสัตว์ และในเลือดหรือุจจาระของมนุษย์ คือ พอลิเอทธิลีนเทเรฟธาเลท (ใช้ทำขวดน้ำดื่ม) โพลีพรอพีลีน (เช่น แก้วโยเกิร์ต ถุงร้อนพลาสติกบรรจุ อาหาร) และโพลีไวนิลคลอไรด์ หรือ PVC (ฟิล์มห่ออาหาร)

ไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติกกับการลดการใช้

การจัดการปัญหาไมโครพลาสติกที่นิยม คือ การลดจำนวนไมโครพลาสติกที่จะเข้าสู่สิ่งแวดล้อม โดยการเลิก การห้ามใช้ การลดการใช้ถุงพลาสติก การใช้พลาสติกชีวภาพชนิดที่ย่อยสลายได้ รวมไปถึงกระบวนการจัดการกับขยะพลาสติกต่างๆ เช่น การใช้ซ้ำ การดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และการรีไซเคิล ซึ่งเป็นวิธีการที่จะลดไมโครพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง

ไมโครพลาสติกเป็นผลมาจากส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของเรา จากการใช้พลาสติก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก หรือมีส่วนประกอบของพลาสติก ซึ่งแฝงอยู่รอบตัวจากผลิตภัณฑ์ในชีวิตในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องสำอาง ยาสีฟัน เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น โดยการสร้างจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจาวันให้น้อยลง ปฏิบัติตามตามหลัก 3R ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ใหม่  (Reuse) หรือแปรรูป (Recycle) เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากไมโครพลาสติกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แหล่งที่มา :

https://shorturl.asia/EIGUX

https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/847437

https://www.milo.co.th/all-blog/ไมโครพลาสติกคืออะไร-ผลกระทบต่อโลก

ติดตามข้อมูลข่าวสารของ คิดคิด และ ECOLIFE ได้ที่

Facebook: ECOLIFE

Website: คิดคิด / ECOLIFE

Editor Kidkid
Editor Kidkid

This website stores cookies on your computer. Cookie Policy